กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย
Disaster Prevention and Mitigation office, satun province ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร
นายไพศาล ขุนศรี
หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสตูล

กฎหมาย

สรุปสาระสำคัญพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550  

     พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  พ.ศ. 2550 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 52 ก วันที่ 7 กันยายน 2550 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2550 เป็นต้นมา โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
     ขอบเขต (มาตรา 3)
     พระราชบัญญัติดังกล่าวมีขอบเขตการดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยครอบคลุมเรื่องอุบัติภัยและอัคคีภัยด้วย โดยยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันฝ่ายพลเรือน พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติป้งอกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ.2542
     คำนิยาม (มาตรา 4)
     "สาธารณภัย" หมายความว่า อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง โรคระบาดในมนุษย์ โรคระบาดสัตว์ โรคระบาดสัตว์น้ำ การระบาดของศัตรูพืช ตลอดจนภัยอื่นๆ อันมีผลกระทบต่อสาธารณชน ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติ มีผู้ทำให้เกิดขึ้น อุบัติเหตุหรือเหตุอื่นใด ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างการของประชาชนหรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐ และให้หมายความรวมถึงภัยทางอากาศ และการก่อวินาศกรรมด้วย
      "ภัยทางอากาศ" หมายความว่า ภัยอันเกิดจากการโจมตีทางอากาศ
      "การก่อวินาศกรรม" หมายความว่า การกระทำใดๆ อันเป็นการมุ่งทำลายทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ หรือสิ่งอันเป็นสาธารณูปโภค หรือการรบกวน ขัดขวางหน่วยเหนี่ยวระบบการปฏิบัติงานใดๆ การประทุษร้ายต่อบุคคลอันเป็นการก่อให้ความเกิดความปั่นป่วนทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยมุ่งหมายที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ
      "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่" หมายความว่า องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งแต่ไม่ได้หมายความรวมถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัด และกรุงเทพมหานคร


คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.)
  1. องค์ประกอบ (มาตรา 6) ประกอบด้วย กรรมการทั้งหมด 23 คน ดังนี้
      - นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ
      - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานกรรรมการคนที่หนึ่ง
      - ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง
      - อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นกรรมการและเลขานุการ
      - ข้าราชการกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
  2. อำนาจหน้าที่ (มาตรา 7)
      - กำหนดนโยบายในการจัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ
      - พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี
      - บูรณาการพัฒนาระบบการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระหว่างหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพ
      - ให้คำแนะนำ ปรึกษา และสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
      - วางระเบียบเกี่ยวกับค่าตอบแทน ค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยความเห็นของกระทรวงการคลัง
      - ปฏิบัติการอื่นใดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นหรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย


หน่วยงานกลางของรัฐในการดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (มาตรา 11)
      ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยงานกลางของรัฐในการดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศ มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
      ♦ จัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติเสนอ กปภ.ช. เพื่อขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี
      ♦ จัดให้มีการศึกษาวิจัย เพื่อหามาตรการในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้มีประสิทธิภาพ
      ♦ ปฏิบัติการ ประสานการปฏิบัติ ให้การสนับสนุน และช่วยเหลือหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาคเอกชนในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงให้้การสงเคราะห์เบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัย ผู้ได้รับภยันตราย หรือผู้ได้รับความเสียหายจากสาธารณภัย
      ♦ แนะนำ ให้คำปรึกษา และอบรมเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแก่หน่วยงาของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาคเอกชน
      ♦ ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินการดำเนินการตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับ
      เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับพื้นที่ จะจัดให้มีศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในบางจังหวัดตามความจำเป็นเพื่อปฏิบัติงานในจังหวัดนั้น และจังหวัดใกล้เคียง และจัดให้มีสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อกำกับดูแล และสนับสนุนการปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด หรือตามที่ผู้อำนวยการจังหวัดมอบหมายก็ได้ (มาตรา 11) โดยให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตเดิมเป็นศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตตามพระราชบัญญัตินี้ (มาตรา 57)


แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
   กำหนดให้มีการจัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยใน 3 ระดับ ดังนี้
   1. แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดทำร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภท และหนว่ยงานภาคเอกชน โดยต้องมีสาระสำคัญตามที่กำหนด ดังนี้
       ♦ แนวทาง มาตรการ งบประมาณในการดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง และแนวทาง วิธีการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบ
       ♦ แนวทางในการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ เครื่่องมือเครื่องใช้ และจัดระบบการปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงการฝึกบุคลากร และประชาชน
       ♦ แนวทางในการซ่อมแซม บูรณะ และฟิ้นฟูพื้นที่ที่ประสบสาธารณภัย
    ทั้งนี้ ให้นำแผนฯ ดังกล่าวเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และขออนุมัติคณะรัฐมนตรี เพื่อให้หน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องยึดเป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติ (มาตรา 11 และมาตรา 12)

     2. แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด  จัดทำโดยคณะกรรมการที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ลงนามประกาศใช้ซึ่งแผนฯ ดังกล่าวต้องสอดคล้องกับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติและมีสาระสำคัญ ดังนี้ (มาตรา 16 และมาตรา 17)
        ♦ การจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจเมื่อเกิดสาธารณภัย โครงสร้าง และผู้มีอำนาจสั่งการด้านต่างๆ ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
        ♦ แผนและขั้นตอนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ และยานพาหนะ เพื่อใช้ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
        ♦ แผนและขั้นตอนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดให้มีเครื่องหมายสัญญาณหรือสิ่งอื่นใดในการแจ้งให้ประชาชนได้ทราบถึงการเกิดหรือจะเกิดสาธารณภัย
        ♦ แผนปฏิบัติการในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
        ♦ แผนการประสานงานกับองค์การสาธารณกุศล
   3. แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร จัดทำโดยคณะกรรมการ ซึ่งมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธาน โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้ลงนามประกาศใช้ ซึ่งแผนฯ ดังกล่าวต้องสอดคล้องกับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และมีสาระสำคัญ ดังนี้ (มาตรา 33 และมาตรา 34)
       ♦ การจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจเมื่อเกิดสาธารณภัย โครงสร้างและผู้มีอำนาจสั่งการด้านต่างๆ ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
       ♦ แผนและขั้นตอนในการจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ และยานพาหนะ เพื่อใช้ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
       ♦ แผนและขั้นตอนในการจัดให้มีเครื่่องหมาย สัญญาณ หรือสิ่งอื่นใดในการแจ้งให้ประชาชนได้ทราบถึงการเกิดหรือจะเกิดสาธารณภัย
       ♦ แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตกรุงเทพมหานคร
          ♦ แผนการประสานงานกับองค์การสาธารณกุศลในเขตกรุงเทพมหานคร
     ทั้งนี้ ให้หน่วยงานหรือบุคคลที่มีหน้าที่จัดทำแผนตามพระราชบัญญัตินี้ จัดทำแผนให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยระหว่างที่ยังจัดทำแผนไม่แล้วเสร็จ ให้ดำเนินการตามแผนที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (มาตรา 56)

การบัญชาการ
  กำหนดให้การบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นอำนาจหน้าที่ของบุคคล ดังนี้
  1. นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย กรณีเกิดสาธารณภัยร้ายแรงอยางยิ่ง (มาตรา 31)
  2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ มีอำนาจควบคุมและกำกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทั่วราชอาณาจักรให้เป็นไปตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และมีอำนาจบังคับบัญชาและสั่งการผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ ผุู้ช่วยผู้อำนวยการ เจ้าพนักงาน และอาสาสมัครได้ทั่วราชอาณาจักร (มาตรา 13)
  3. ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นรองผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้บัญชาการในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้บัญชาการมอบหมาย โดยให้มีอำนาจบังคับบัญชาและสั่งการรองจากผู้บัญชาการ (มาตรา 13)


การปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
   เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการ เจ้าพนักงาน และอาสาสมัครในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ดังนี้
   1. อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นผู้อำนวยการกลาง มีหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทั่วราชอาณาจักร (มาตรา 14)
   2. ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้อำนวยการจังหวัด รับผิดชอบในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตจังหวัด (มาตรา 15)
   3. นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นรองผู้อำนวยการจังหวัด มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้อนำวยการจังหวัดในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (มาตรา 18)
   4. นายอำเภอ เป็นผู้อำนวยการอำเภอ รับผิดชอบและปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตอำเภอ (มาตรา 4 และมาตรา 19)
   5. ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่ (นายกองค์การบริหารส่วนตำบล นายกเทศมนตรี นายกเมืองพัทยา และหัวหน้าผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่อื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง) เป็นผู้อำนวยการท้องถิ่น มีหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตท้องถิ่น และมีหน้าที่ช่วยเหลือผุู้อำนวยการจังหวัดและผู้อำนวยการอำเภอตามที่ได้รับมอบหมาย (มาตรา 4 และมาตรา 20)
   6. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้อำนวยการกรุงเทพมหานคร รับผิดชอบในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตกรุงเทพมหานคร (มาตรา 32)
   7. ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นรองผู้อำนวยการกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสามารถมอบหมายรองปลัดกรุงเทพมหานครเป็นผู้ช่วยปฏิบัติได้ (มาตรา 35)
   8. ผู้อำนวยการเขตในแต่ละเขตของกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานคร รับผิดชอบในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตรับผิดชอบและมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครตามที่ได้รับมอบหมาย (มาตรา 36 และมาตรา 37)
   9. เจ้าพนักงาน ให้ผู้อำนวยการมีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงาน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตรับผิดชอบ โดยหลักเกณฑ์การแต่งตั้งและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย (มาตรา 39)
  10. อาสาสมัคร ให้ผู้อำนวยการในระดับต่างๆ จัดให้มีอาสาสมัครในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เพื่อช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย และตามที่กำหนดในระเบียบของกระทรวงมหาดไทย (มาตรา 41)
  11. องค์การสาธารณกุศลหรือบุคคลที่ช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานในระหว่างเกิดสาธารณภัย สามารถช่วยเหลือหรือบรรเทาสาธารณภัยได้ตามที่ผู้อำนวยการหรือเจ้าพนักงานมอบหมาย (มาตรา 42)

การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
  1. เมื่อเกิดหรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัยในเขตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่ใด ให้เป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการท้องถิ่นแห่งพื้นที่นั้น โดยผู้อำนวยการอำเภอ และผู้อำนวยการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้อำนวยการท้องถิ่นในเขตอำเภอ และจังหวัดแล้วแต่กรณี (มาตรา 21 และมาตรา 22)
  2. กรณีพื้นที่ที่เกิดหรือจะเกิดสาธารณภัยอยู่ในความรับผิดชอบของผู้อำนวยการท้องถิ่นหลายคน ผู้อำนวยการท้องถิ่นคนหนึ่งคนใดจะใช้อำนาจหรือปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 21 ไปพลางก่อนก็ได้ แล้วให้แจ้งผู้อำนวยการท้องถิ่นอื่นทราบโดยเร็ว และกรณีผู้อำนวยการท้องถิ่นมีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่อยู่นอกเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่ของตน ให้แจ้งผู้อำนวยการอำเภอ หรือผู้อำนวยการจังหวัด แล้วแต่กรณี เพื่อสั่งการต่อไป (มาตรา 22)
  3. ผู้อำนวยการในเขตพื้นที่ที่ติดต่อหรือใกล้เคียง มีหน้าที่สนับสนุนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแก่ผู้อำนวยการ ซึ่งรับผิดชอบในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดขึ้น (มาตรา 23)
  4. เมื่อเกิดสาธารณภัย เจ้าพนักงานที่ประสบเหตุมีหน้าที่ต้องเข้าดำเนินการเบื้องต้นเพื่อระงับภัยนั้น แล้วรีบรายงานให้ผู้อำนวยการท้องถิ่นสั่งการต่อไป และในกรณีจำเป็น เจ้าพนักงานมีอำนาจดำเนินการใดเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองชีวิตหรือป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่บุคคล (มาตรา 24)
  5. กรณีเจ้าพนักงานจำเป็นต้องเข้าไปในอาคารหรือสถานที่ที่อยู่ใกล้เคียงกับบริเวณที่เกิดสาธารณภัย  เพื่อทำการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้กระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสถานที่แล้ว เว้นแต่ไม่มีเจ้าของ หรือผู้ครอบครองอยู่ในเวลานั้น หรือเมื่อมีผู้อำนวยการอยู่ด้วย หากทรัพย์สินนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดสาธารณภัยได้ง่าย ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจสังการให้เจ้าของหรือผู้ครอบครอง ขนย้ายทรัพย์สินนั้นออกจากอาคารหรือสถานที่ดังกล่าว หากเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่ปฏิบัติตาม เจ้าพนักงานมีอำนาจขนย้ายทรัพย์สินนั้นได้ตามความจำเป็นแก่การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยเจ้าพนักงานไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายอันเกิดจากการกระทำดังกล่าว (มาตรา 26)
  6. ให้ผู้อำนวยการในเขตพื้นที่รับผิดชอบสำรวจความเสียหายจากสาธารณภัย และจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ประบภัยและทรัพย์สินที่เสียหายไว้เป็นหลักฐานพร้อมทั้งออกหนังสือรับรองให้ผู้ประสบภัยไว้เป็นหลักฐานในการรับการสงเคราะห์และฟื้นฟู (มาตรา 30)
  7. ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานในพื้นที่กับหน่วยทหารในการบริหารจัดการสาธารณภัย กำหนดให้หน่วยทหารเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำแผนกรณีเกิดสาธารณภัยขึ้น หากต้องมีหน่วยทหารเข้าร่วมดำเนินการ กำหนดให้จัดทำเป็นบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครกับผู้บัญชาการทหารในเขตพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่เป็นกรณีการสั่งการของนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย (มาตรา 46)

ระดับการจัดการสาธารณภัย


ระดับ การจัดการสาธารณภัย ผู้มีอำนาจตามกฎหมาย
1 สาธารณภัยขนาดเล็ก ผู้อำนวยการอำเภอ  ผู้อำนวยการท้องถิ่น
และ/หรือ ผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานคร
ควบคุมและสั่งการ
2 สาธารณภัยขนาดกลาง ผู้อำนวยการจังหวัด หรือผู้อำนวยการกรุงเทพมหานคร
ควบคุม สั่งการ และบัญชาการ
3 สาธารณภัยขนาดใหญ่ ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ
ควบคุม สั่งการ และบัญชาการ
4 สาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
ควบคุม สั่งการ และบัญชาการ

รอยเลื่อนมีพลังในเทศไทย

ชื่อรอยเลื่อน จังหวัด
แม่จัน เชียงราย , เชียงใหม่
แม่อิง เชียงราย
แม่ฮ่องสอน แม่ฮ่องสอน , ตาก
เมย ตาก , กำแพงเพชร
แม่ทา เชียงราย , เชียงใหม่ , ลำพูน
เถิน ลำปาง , แพร่
พะเยา เชียงราย , พะเยา , ลำปาง
แม่ลาว เชียงราย
ปัว น่าน
อุตรดิตถ์ อุตรดิตถ์
เจดย์สามองค์ กาญจนบุรี
ศรีสวัสดิ์ กาญจนบุรี , สุพรรรบุรี , อุทัย ธานี , ตาก
ระนอง ระนอง , ชุมพร , ประจวบคีรีขันธ์ , พังงา
คลองมะรุ่ย สุราษฎร์ , กระบี่ , พังงา , ภูเก็ต
เพชรบูรณ์ เพชรบูรณ์

จำนวนผู้เข้าชมในหน้านี้ 29 ครั้ง